เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงแทบทุกวัน แนวทางในการทำการตลาดออนไลน์ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทุกปีเช่นกัน ซึ่งในการทำตลาด “เทรนด์” เป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องจับตามองอยู่เสมอ ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากในอดีต เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เหล่าผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ จึงต้องไม่หยุดนิ่ง พร้อมปรับตัวตามเทรนด์การตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

วันนี้ DIGITORY เลยมาอัปเดตเทรนด์การตลาดออนไลน์ปี 2020 เพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกคนได้ทำความเข้าใจและเห็นทิศทางการทำการตลาด พร้อมวางแผนปรับกลยุทธ์ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้

โดย DIGITORY ได้สรุปแนวทางการตลาดออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 จากผู้เชี่ยวชาญมา ดังนี้

คอนเทนต์รูปแบบวีดีโอและการส่งข้อความทางแชตมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

สำหรับคอนเทนต์รูปแบบวีดีโอได้รับความนิยมมากมาตั้งแต่ต้นปี 2019 และมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2020 ด้วย โดยผู้บริโภคหลายคนให้ความสนใจกับคอนเทนต์แบบ Stories (Facebook, IG Story) มากขึ้น ซึ่งในยุคที่พฤติกรรมการรับชมเปลี่ยนไป สิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้มากที่สุดคือ คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ขณะที่ธุรกิจบริการสตรีมมิ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ชมจะมองหาแบรนด์ที่สื่อสารข้อเสนอต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด รวมไปถึงแบรนด์ที่สามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์การรับชมได้ตามความต้องการ

นอกจากนี้ การสนทนาและการทำซื้อขายสินค้าผ่านทางข้อความแชตที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจาก จอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทย เผยว่า จากรายงานการศึกษาระดับโลกซึ่งจัดทำโดย Boston Consulting Group ร่วมกับ Facebook ใน 9 ประเทศ พบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำเทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่านแชตออนไลน์แซงหน้าประเทศอื่นๆ ทั้งในแง่การรับรู้และการใช้แชตออนไลน์เพื่อการซื้อสินค้า

ซึ่งข้อมูลนี้ สะท้อนให้เห็นการเติบโตของการขายสินค้าผ่านทางข้อความแชต

ข้อมูลเชิงลึกคือสิ่งสำคัญ

ในปี 2020 นี้ การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ใช่สำหรับแบรนด์อาจไม่ใช่การแบ่งตามลักษณะประชากรศาสตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ “ความสนใจ” ของผู้บริโภค จะเป็นตัวกำหนดว่าแบรนด์ควรจะทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายแบบไหน และควรจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภทอย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการได้แม่นยำยิ่งขึ้น เช่น ผู้บริโภคผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ผู้สูงอายุ ที่มีความสนใจพิเศษในเรื่องเดียวกัน ซึ่งแบรนด์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ผ่านพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ประกอบกับการเก็บข้อมูลจากออฟไลน์ร่วมด้วย โดยต้องหาความต้องการเชิงลึกของผู้บริโภคให้เจอ

สนใจศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับผู้ที่มีเว็บไซต์อยู่แล้ว คลิกด้านล่างได้เลยค่ะ

ข้อมูลที่ดีและถูกต้องมีชัยกว่าข้อมูลเยอะ

การมีข้อมูลเยอะ ไม่ได้หมายความว่าเราจะก้าวนำคู่แข่งของเราได้อีกต่อไป แต่การมีข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงและถูกต้องเท่านั้น จะทำให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จ เพราะในปี 2020 ข้อมูลใน Big Data จะมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลอาจจะไม่ตอบโจทย์เชิงจิตวิทยาของมนุษย์ได้ ดังนั้นการใช้คนทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลจึงมีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลที่ดีต้องสามารถนำไปใช้งานและต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งข้อมูลที่ดีและถูกต้อง ควรมีลักษณะสอดคล้องกับธุรกิจและแบรนด์

ต้องส่วนตัว สร้างความสัมพันธ์ และรับผิดชอบ

ข้อมูลส่วนตัวเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมาก ดังนั้น การทำธุรกิจในปี 2020 แม้จะเน้นการติดตามพฤติกรรมและวิถีของผู้บริโภคผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความเป็นส่วนตัวแบบเข้มข้นด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจจำนวนมากจะเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคบนโซเชียลมีเดีย เพื่อ Engagement  ที่ดีดังนั้น แต่ละธุรกิจจึงมีการออกแบบเว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานบนมือถือ รวมถึงแอปพลิเคชันเฉพาะ เพื่อการสื่อสารแบบเรียลไทม์ สร้างความโดดเด่นและแตกต่าง

ทั้งนี้ การรับผิดชอบบนโลกดิจิทัลจึงต้องตามมาอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การป้องกันข่าวปลอม (fake news) การรักษาภาพลักษณ์จากการใช้ Influencers ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียที่ต้องระมัดระวังและรับผิดชอบการกระทำมากขึ้น

ออนไลน์และออฟไลน์ต้องสัมพันธ์กัน

แม้แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคจะบ่งชี้ว่า การทำธุรกิจออนไลน์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การรักษาฐานลูกค้าและมาตรฐานร้านค้าออฟไลน์ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบ่อยครั้งที่ลูกค้าต้องประสบปัญหาการสื่อสารที่ผิดพลาด จะซื้อสินค้าออนไลน์แต่ทางออนไลน์แจ้งให้ไปซื้อสินค้าได้ที่หน้าร้าน เมื่อลูกค้าไปถึงหน้าร้านกลับไม่มีสินค้า หรือพนักงานแจ้งว่ามีขายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น ดังนั้น การทำการตลาดที่ดี คือ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องมีความสัมพันธ์และส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็น Sharing Economy หรือ Circular Economy โดยต้องมีการวางแผนและเตรียมงานอย่างรอบคอบ รวมถึงการแจ้งพนักงานทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักการตลาดและแบรนด์ต้องทำ คือปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะในอนาคตการตลาดออนไลน์จะยิ่งท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราพร้อมเปลี่ยนแปลงก็สามารถลุยการตลาดได้ทุกสถานการณ์

สนใจอ่านบทความการตลาดออนไลน์เพิ่มเติมได้ ที่นี่