กองทุนพัฒนาสื่อฯ จับมือ “ทูแฮนส์” ปั้นคอนเทนต์ชื่อเก๋ “แนะnow”
ค้นจุดแข็งเด็กไทยให้ตรงจุด พัฒนาสู่อาชีพที่ใช่ให้ถูกทาง

        กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดันโครงการยุทธศาสตร์ ปี 61 สนับสนุนการผลิตสื่อเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนาเด็กและเยาวชน จับมือกับกับ “บริษัท ทูแฮนส์ จำกัด” ปั้น Multi-platform content รูปแบบใหม่ ในชื่อ “แนะnow” คอนเทนต์พัฒนาเยาวชนจากรากฐานให้รู้จักตัวเอง โดยค้นหาพรสวรรค์เด็กไทยเพื่อพัฒนาสู่จุดแข็ง 34 คุณลักษณะอย่างตรงจุด พัฒนาสู่อาชีพที่ใช่ให้ถูกทาง ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มยอดนิยม ทั้ง Facebook, Line, Instagram, YouTube พร้อมดึง “ครูพี่บิม-รุสนันท์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม” – Gallup Certified Strengths Coach พิธีกรมากความสามารถ มาเป็นโค้ชจุดแข็ง แนะแนวเยาวชนอย่างมีคุณภาพ ออกอากาศทุกวันเสาร์ 10 โมงเช้า ทาง YouTube Channel “แนะnow” และรีรันทาง Facebook แนะnow 18.00 น. ในวันเดียวกัน

        นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รักษาการผู้จัดการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า เป็นที่รู้ดีว่าช่องโหว่ใหญ่ของการศึกษาไทย คือการที่เด็กรู้จักตัวเองไม่ดีพอ ไม่รู้ว่าจุดแข็งจริงๆ ของตัวเองคืออะไร แม้แต่ในเด็กบางคนที่ทำได้ดีในทุกหัวข้อ ก็อาจถูกความถนัดแบบกว้างๆ กลบไม่ให้เห็นจุดแข็งที่ดีที่สุดของตัวเองเอาได้ ซึ่งช่องโหว่เหล่านี้ได้โยงไปถึงอีกหนึ่งปัญหาในสังคมไทย คือการเลือกทางเดินผิดตั้งแต่ช่วงวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน ที่คนหลายๆ รุ่นรู้ตัวช้าว่าไม่ได้รักในงานที่ทำ จนตามมาซึ่งปัญหาตกงาน หรือในเคสที่หนักหน่อย ก็อาจเกิดเป็นปัญหาภาระทางสังคมที่สะสมมาอย่างยาวนาน

        “มีเยาวชนไม่น้อยที่ไม่รู้จักจุดแข็งของตัวเอง จนเวลาได้บีบให้เขาเลือกเส้นทางศึกษาต่อตามการชี้แนะของ ครอบครัว, กระแสสังคม หรือค่านิยมปริญญา แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งผิด แต่การเลือกทางที่ไม่สอดคล้องกับจุดแข็งของตัวเอง ก็ทำให้หลายๆ คนพลาดโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่โลกพลัดเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การเลือกแนวทางของอาชีพเดิมๆ ก็อาจถูกแทนที่ด้วยอาชีพใหม่ๆ ของอนาคต ที่เยาวชนไทยไม่มีสิทธิ์ได้เรียนรู้เส้นทางเหล่านี้เลยด้วยซ้ำไป”

        แม้ช่องโหว่ใหญ่ที่ว่า จะมีการพยายามแก้ไขด้วยกลไก “แนะแนว” ทว่ากลไกนี้กลับไม่ได้เกิดกับทุกโรงเรียน หนำซ้ำตำแหน่งครูแนะแนว ก็เป็นตำแหน่งงานที่มีภาระรอบด้าน ส่งผลให้ ‘การแนะแนวจุดแข็งของเด็ก’ และ ‘การแนะแนวความเป็นไปของอาชีพในอนาคต’ กลายเป็นความบกพร่อง ที่อาจแนะทางที่ผิดพลาด จนขยายช่องโหว่เดิมให้ใหญ่ขึ้นอีกทอดหนึ่ง

        โชคดีที่ปัญหาการ “แนะแนว” ได้ถูกนำมาแก้ไข ตีความใหม่โดยการร่วมกันของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ บริษัท ทูแฮนส์ จำกัด ให้กลายเป็นกลไกในรูป Multi-platform content ที่จะเป็นตัวกลางสร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้สังคมเกิดความเข้าใจในตัวเด็กและเยาวชน รวมถึงช่วยให้ครูและผู้ปกครอง ได้มีส่วนในการผลักดันศักยภาพของเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในคอนเทนต์ชื่อว่า “แนะnow”

        “แนะnow” คือ Multi-platform content ที่ใช้แบบวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths finder) อิงจากข้อมูล 34 Talents ของ Gallup มาถอดเป็นสมการหาคำตอบบอกถึงสาระหลัก 2 ด้าน ที่ช่วยอุดช่องโหว่ใหญ่ของการศึกษาไทย นั่นคือ การหาจุดแข็งของบุคคล (Talents) ที่จะช่วยหาจุดแข็งแต่ละรูปแบบในตัวเด็ก รวมถึงวิธีการค้นหาจุดแข็งนั้น และวิธีที่จะนำจุดแข็งนั้นไปพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ, แนวโน้มอาชีพ (Trends) ที่จะแสดงบทวิเคราะห์รูปแบบของอาชีพในอนาคตอันใกล้ ว่าเทรนด์อาชีพไหนจะมา และแต่ละอาชีพต้องการคุณสมบัติแบบไหน ทั้งยังเจาะไปถึงสายการเรียนรู้ที่เหมาะสมอีกด้วย

        ด้าน นางสาวรุสนันท์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม หรือ “ครูพี่บิม” – Gallup Certified Strengths Coach ในฐานะพิธีกรหลักของ “แนะnow” กล่าวว่า ข้อดีของ Gallup 34 Talents คือการใช้แบบทดสอบมาวิเคราะห์จุดแข็ง 34 แบบในตัวคน แล้วเรียงลำดับความมาก-น้อย ของจุดแข็งนั้นๆ ซึ่งการนำแบบทดสอบนี้มาปรับใช้ รวมกับการแนะแนวของโค้ชเฉพาะทาง จะช่วยให้เด็กรู้จุดแข็งในตัวเองที่มากกว่า 1 แบบ และสร้างทางเลือกไปสู่อาชีพที่ดี มีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับอาชีพเก่าที่ fix skill ในกรอบเดิมๆ เพราะสุดท้ายแล้วการได้ทำในสิ่งที่รักและเป็นจุดแข็ง ถือเป็นทางที่ดีที่สุดในการกลบช่องโหว่นี้

        คอนเทนต์ของ “แนะnow” ใช้การผสมผสาน (Multi) ของช่องทาง (Platform) ที่มากกว่าหนึ่ง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กสูงสุดในวงกว้าง ประกอบด้วย On-line ทางแพลตฟอร์มยอดนิยม อย่าง Facebook, Line, Instagram และ YouTube แพร่ภาพต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน โดย แนะnow จะแบ่งคอนเทนต์แนะแนวจุดแข็งออกเป็น 3 ช่วง คือ Truly Talents นำเสนอจุดแข็ง 34 แบบของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน, Trendy Careers นำเสนอแนวโน้มอาชีพแห่งโลกอนาคต เชื่อมโยงกับจุดแข็งในแต่ละแบบ สุดท้ายคือช่วง Learning Pathways นำเสนอบรรยากาศการเรียนรู้จริงในสถาบันที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นจุดเริ่มต้นหลังจากเยาวชนได้เรียนรู้จุดแข็งและเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเองแล้ว

        นางสาวรุสนันท์ หรือ “ครูพี่บิม” ยังให้ทัศนะต่อไปว่า “หลังจากที่คอนเทนต์ แนะnow ออกอากาศในครั้งแรก เราได้ผลตอบรับที่ดีจากเยาวชนมากมาย โดยเฉพาะใน inbox ของแต่ละแพลตฟอร์ม ได้มีการโต้ตอบระหว่างโค้ชและนักเรียนตลอดเวลา ซึ่ง feed back ที่น่าประทับใจนี้ จะช่วยให้ แนะnow สามารถดำเนินการแนะแนวจุดแข็งได้ต่อเนื่อง และจะเปิดให้เยาวชนหรือผู้ที่สนใจ ได้มีโอกาสมาเรียนในคลาสของ Gallup 34 Talents ที่ลึกกว่าเดิม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

        “ปัจจุบันมีอาชีพที่ไม่คุ้นหูเกิดขึ้นใหม่มากมายแล้ว อีกทั้งการเรียนในแบบเดิมๆ เริ่มถูกลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ การที่โลกเปลี่ยนแปลงทุกวินาทีด้วยความเร็วที่มากขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คงเป็นเยาวชนที่ถูกทำร้ายด้วยช่องโหว่ทางการศึกษานั่นเอง ดังนั้นหากต้องการให้เด็กเริ่มปรับตัวสำหรับชีวิตในภายภาคหน้า ก็ควรให้เขาได้รู้จุดแข็งว่าตัวเองทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ด้วยความมั่นใจ เพราะจุดแข็งของเยาวชนควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาอย่างถูกทาง เพราะโลกของอาชีพในอนาคต เป็นสิ่งที่ยากแก่การคาดการณ์” นางสาวรุสนันท์ หรือ “ครูพี่บิม” กล่าวทิ้งท้าย

        ติดตาม “แนะnow” ให้ครบทุกช่องทาง ได้แล้วตอนนี้ ทั้ง YouTube Channel “แนะnow”, Facebook Fanpage: แนะnow , Line@ “แนะnow” , และ Instagram “แนะnow.ig”