คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุชุมชนคลองจั่น และกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ลงพื้นที่จัดกิจกรรมเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อข่าวปลอมด้านสุขภาพกับชุมชนผู้สูงวัยในกรุงเทพมหานคร ณ อาคารสันทนาการผู้สูงวัยคลองจั่น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ นิด้า หัวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม กล่าวถึงความสำคัญและที่มาของโครงการนี้ว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญให้การส่งต่อข่าวสารทำได้อย่างรวดเร็ว การแชร์ข่าวเป็นไปอย่างง่ายดาย เป็นผลให้บางครั้งการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารถูกละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งต่อข่าวสารด้านสุขภาพ ซึ่งอาจมีผู้จงใจส่งข้อมูลข่าวสารเพื่อหลอกลวง หรือหวังผลประโยชน์ให้ผู้อ่านคล้อยตาม ดังเช่น ข่าวสารที่มาในรูปแบบข้อแนะนำในการรักษา การมุ่งขายสินค้าหรือ สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้อ่าน ทางโครงการฯ ได้เห็นความสำคัญในการสร้างทักษะการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและมีโอกาสเสี่ยงที่อาจถูกล่อลวงด้วยข่าวปลอม จึงได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปทำกิจกรรมให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อข่าวปลอมด้านสุขภาพกับผู้สูงวัยในครั้งนี้”

กิจกรรมครั้งนี้ประกอบไปด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีสังเกตข่าวปลอมด้านสุขภาพ กิจกรรมเกมทดสอบ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับผู้สูงวัย จำนวน 31 คน นายเอกมงคล ปัญญาไว ประธานชมรมผู้สูงอายุชุมชนคลองจั่น กล่าวว่า “ข่าวปลอมนับเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้สูงอายุในชุมชนอย่างมาก เพราะทุกวันนี้เราสื่อสารได้อย่างรวดเร็วขึ้นผ่านสื่อออนไลน์อย่างกลุ่มไลน์ ซึ่งมีการแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ทุกวัน บางครั้งผู้สูงวัยอาจจะส่งต่อข้อมูลโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ การเข้าร่วมกิจกรรมาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้วิธีในการสังเกตข่าวปลอม ซึ่งทำให้พวกเขาระมัดระวังในการส่งต่อข้อมูลมากขึ้น และหากมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แบบนี้ในภายหน้า ทางชมรมยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนต่อไป”

ผลการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พบว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีในการสังเกตข่าวปลอมด้านสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากผลการทดสอบหลังการอบรมของผู้สูงวัย ที่สามารถตอบได้ว่าข่าวใดเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมถูกต้องทั้งหมด 23 คน จาก 31 คน ต่างจากก่อนทำกิจกรรมที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ตอบว่าไม่แน่ใจ และมีความตั้งใจจะตรวจสอบข่าวปลอมในอนาคตที่คะแนนเฉลี่ย 9.55 จาก 10 คะแนน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Social Lab คืนความรู้มิติตรวจสอบข่าวปลอมสู่ชุมชน ของโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร หรือโครงการเช็กให้รู้ โดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ดำเนินการวิจัยพัฒนามิติตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยการตรวจสอบโครงสร้างข่าว 6 ด้าน ได้แก่ มิติด้านองค์ประกอบของข่าว มิติบริบท มิติด้านเนื้อหา มิติด้านภาษา มิติด้านการโฆษณา และมิติด้านสุขภาพ ร่วมกับภาคีนักวิชาการ ทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทั้งนี้กิจกรรมได้จัดขึ้นทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กรุงเทพมหานคร โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จังหวัดชลบุรี โดยมหาวิยาลัยบูรพา และจังหวัดเชียงใหม่โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook เพจเช็กให้รู้ https://www.facebook.com/Factcheckingcenter