กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ กลิ่นบำบัด
จากพืช ผักริมรั้ว และ ยาสมุนไพร คลายเครียด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะประชาชนใช้พืชผักสมุนไพร ปรุงเป็นอาหาร และกลิ่นสมุนไพรจากธรรมชาติ เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ  ลดอาการตึงเครียดในสถานการณ์ปัจจุบัน

   นายแพทย์ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากปัญหาต่างๆในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยคนที่มีอาการเครียด    จะเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก นอนไม่หลับ  การบรรเทาความเครียดโดยใช้พืช ผัก สมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องเทศ  และ กลุ่มดอกไม้หอม

กลุ่มเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อน ได้แก่  ขิง ขมิ้นชัน กะเพรา กระเทียม กระชาย ตะไคร้ หอมแดง ใบมะกรูด มะนาว จะช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี สามารถบรรเทาอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการการบีบตัวของลำไส้ ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้เป็นปกติ และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย              ให้ร่างกายแข็งแรง สำหรับเมนูอาหารที่สามารถนำสมุนไพรกลุ่มนี้ไปทำเป็นอาหาร ได้แก่ ต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มจืดกะเพรา และเมนูยำต่างๆ ที่สำคัญคือ ต้องปรุงสุก สด ใหม่เสมอ ส่วนน้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ ชาใบหม่อน น้ำมะนาว เป็นต้น  ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มดอกไม้หอม  ได้แก่  ดอกมะลิ จำปี จำปา และกุหลาบมอญ กลิ่นของสมุนไพรดังกล่าว มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ความเครียด  ช่วยให้นอนหลับได้สนิท

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า ยังมีตำรับยาสมุนไพรที่ช่วยเรื่องการผ่อนคลายที่อยากแนะนำ คือ ยาหอม      ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยมีการบันทึกถึงตำรับยาหอม ไว้มากกว่า 300 ตำรับ ปัจจุบันยาหอมจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ    มีทั้งหมด 5 ตำรับ ได้แก่  ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร์ และยาหอมแก้ลมวิงเวียน สรรพคุณเน้นไปในเรื่องบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ แก้อาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตาพร่าจะเป็นลม ยาหอมแต่ละชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ตัวยาหลักส่วนใหญ่จะเป็นเกสรดอกไม้ การรับประทานยาหอมให้ได้สรรพคุณ หรือมีประสิทธิภาพที่ครบถ้วนนั้น ควรชงในน้ำร้อน แล้วรับประทานอุ่นๆ         เพราะนอกจากจะได้สรรพคุณที่รักษาโรคที่เป็นอยู่แล้ว กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากยาหอมยังช่วยบรรเทา สภาพจิตใจ       ลดความตึงเครียดที่สะสมมาในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์ที่ผ่อนคลาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ยาหอม      เป็นยาชนิดหนึ่งที่รักษาโรคได้แบบองค์รวม คือ สามารถบำบัดได้ทั้งโรค  ทางกาย และเยียวยาโรคทางจิตใจไปพร้อมๆกัน

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า อยากแนะนำให้ประชาชนออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตนและการบริหารร่างกายด้วยศาสตร์มณีเวช สามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย  มีผลต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกทำให้การเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ ช่วยบริหารระบบลมหายใจ และอีกศาสตร์ที่อยากแนะนำ คือ  การฝึกสมาธิบำบัด ซึ่งมีประโยชน์ช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ ผ่อนคลาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ  ลดอาการตึงเครียดในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้อีกด้วย