กรมการแพทย์แผนไทยฯเผย ปี 2566 พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ ครอบคลุมทุกมิติ มุ่งเป้าพัฒนาสู่มาตรฐานสากล

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผย ปี 2566 เร่งผลักดันกัญชาครอบคลุมทุกมิติทางการแพทย์ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อย่างเป็นระบบ เดินหน้ากระจายผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปจากกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนใน 13 เขตสุขภาพ กว่า 680 แห่ง รวมมูลค่าการผลิต 40,000,000 บาท มุ่งเป้าพัฒนากัญชาทางการแพทย์สู่มาตรฐานสากล

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่เริ่มต้นทั้งเรื่องการปลูก การผลิต หรือแม้แต่การควบคุมกัญชาทางการแพทย์แผนไทย จนปัจจุบันมุ่งเป้าที่จะพัฒนากัญชาทางการแพทย์สู่มาตรฐานสากล กัญชาทางการแพทย์แผนไทยเริ่มจากนำภูมิปัญญา ตำรับยาสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติและได้รับการคัดเลือก กลั่นกรอง สังเคราะห์ จากผู้เชี่ยวชาญ/แพทย์แผนไทย/หมอพื้นบ้าน และหลักฐานการใช้ในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีจำนวน 324 ตำรับ ในส่วนภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านในชุมชน พบตำรับยากัญชาที่หมอพื้นบ้านใช้ในการปรุงเป็นตำรับยาในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 78 ตำรับ ของหมอพื้นบ้าน 30 ราย จากภูมิภาคต่างๆ ที่ยื่นขอรับรองตำรับที่มีกัญชาผสมปรุง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชาเป็นส่วนประกอบในตำรับ ทั้ง ช่อดอก ใบ ราก เมล็ด และ ลำต้น

สำหรับ แนวทางในการขับเคลื่อนกัญชา กัญชง และกระท่อม ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำครอบคลุม ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้ ระดับต้นน้ำ ได้จัดทำคู่มือมาตรฐานการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดี GACP (Good Agricultural and Collection Practices) และได้ดำเนินการบริหารจัดกระจายเมล็ดพันธุ์กัญชา จำนวน 711,094 เมล็ด เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชกัญชาตามมาตรฐานการเพาะปลูกให้กับผู้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือจดแจ้ง ได้ทางแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” จำนวน 464 แห่ง และได้ดำเนินการจัดตั้งคลังวัตถุดิบกัญชาทางการแพทย์

โดยได้รับการสนับสนุนและการจัดซื้อวัตถุดิบกัญชาทางการแพทย์แผนไทย จำนวน 3,682.35 กิโลกรัม จากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต จำนวน 91 แห่ง รวมมูลค่าทั้งสิ้น 23,041,662 บาท เพื่อใช้ในการผลิตและการบริหารกระจายวัตถุดิบกัญชาให้กับสถานที่ผลิตยา WHO-GMP และได้จัดทำฐานข้อมูลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านกายภาพเคมีการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรพืช โลหะหนัก และจุลชีพ เพื่อเป็นข้อมูลแสดงคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตในการนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปกัญชา ระดับกลางน้ำ ได้ดำเนินการพัฒนาการผลิตและประกันคุณภาพผลิตผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปจากกัญชา ได้แก่ น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร จำนวน 430,000 ขวด/กล่อง ตำรับเมตตาโอสถ ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร จำนวน 10,000 ขวด/กล่อง และตำรับการุณย์โอสถ ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร จำนวน 5,000 ขวด/กล่อง รวมถึงตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมในตำรับยาชาติ เพื่อบริหารจัดกระจายยา ให้สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงเป็นหน่วยงานสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปจากกัญชาและยาหลอกให้กับสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ในการวิจัยประสิทธิภาพความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต ระดับปลายน้ำ ได้บริหาร การจัดกระจายผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปจากกัญชา ในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ใน 13 เขตสุขภาพ 683 แห่ง รวมมูลค่าการผลิต 40,000,000 บาท ทั้งนี้จากการรวบรวมสถิติของประชาชนทั่วประเทศที่ใช้กัญชา ทางการแพทย์ มีจำนวน 243,361 ราย

จากการพยายามและมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนกัญชาทั้งมิติ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ดังกล่าว ทางกรมฯ ยังเห็นว่า หัวใจสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพและมีคุณสมบัติคงที่ คือ การจัดการวัตถุดิบต้นทางที่ต้องมีการเพาะปลูกที่ดี จัดการวัตถุดิบให้สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือนำไปแปรรูปตอบสนองความต้องการบริโภคประเภทต่าง จนถึงปลายทางคือการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Medical grade หรือ food grade ทางด้าน สหภาพยุโรป มีการใช้ GACP ซึ่งกำหนดโดย Committee on Herbal Medicinal Products หรือ “HMPC” ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับแปลงปลูกซึ่งการผลิตจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงการแปรรูป เพื่อให้สมุนไพรมีคุณภาพและมีความปลอดภัยมาตรฐานการผลิตกัญชาในต่างประเทศCannabis Regulation กำหนดให้มีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติ(Standard Operating Procedure : SOP) เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพของการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ในส่วนประเทศไทย ล่าสุด ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนากัญชา กัญชง กระท่อม ทางการแพทย์ สู่ระดับมาตรฐานสากล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เช่น กรมวิชาการเกษตร,มกอช. และวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนา ร่างเกณฑ์การประเมินมาตรฐานการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเกณฑ์การประเมินที่เป็นมาตรฐาน และลงพื้นที่ตรวจประเมินในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนที่แจ้งความประสงค์ในการขอรับใบรับรอง เพื่อเป็นมาตรฐานในการผลิตกัญชา โดยมุ่งเป้าหมายสู่มาตรฐานสากล ต่อไป

หากท่านสนใจสมุนไพร สามารถเข้าชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติและการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 ณ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น.เป็นต้นไป

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5649 , 0 2149 5696 Facebook Fanpage มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ หรือ Website: https://natherbexpo.dtam.moph.go.th